หน้า  1   2   3

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สัมฤทธิ์ สิงห์อาษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชนี สิงห์อาษา

  ...................................................................................

          การเรียนรู้ไม่ว่าวิชาใดๆ ขอให้พยายามเรียนรู้ให้จริงจัง เมื่อนำความรู้นั้นมาประกอบกับการสังเกตด้วยแล้ว เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเรียนรู้ในเรื่องของแมลงชนิดต่างๆ ในลักษณะ รูปร่าง วงจรชีวิต ตลอดจนชีววิทยาของมันแล้ว บางครั้งสามารถทำให้เรามองเห็นโลกในอีกหลายแง่คิด และอาจเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นไม่มากก็น้อย เป็นต้นว่า เมื่อคุณเข้าไปในป่าแห่งหนึ่งเพื่อจะไปส่องสัตว์ตามธรรมชาติ  ถ้าคุณเดินลึกเข้าไปในป่าแล้วพบว่าป่าทั้งป่ามีแต่ความร้อนอบอ้าวอย่างรุนแรง และเงียบเชียบวังเวงผิดปกติ  ไม่เห็นแมลงใดๆ บินว่อน หรือไม่ได้ยินเสียงของแมลง แม้แต่เสียงนกร้องคุณก็ไม่ได้ยินแม้แต่น้อย  เชื่อได้เลยว่าคุณจะพบเห็นสัตว์ได้ยากมากในวันนั้น ถามว่าทำไม คำตอบก็คือ ทุกสรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ในป้าถ้าขาดความชุ่มชื้น ต้นไม้ต้นหญ้าจะไม่เจริญงอกงาม แมลงหรือสัตว์หลายชนิดก็ขาดอาหาร จำเป็นต้องอพยพไปยังแหล่งที่มีน้ำ มีหญ้าให้กิน ในเวลาเดียวกันเพื่อความอยู่รอดของสัตว์หรือนกที่กินแมลงเป็นอาหารตลอดจนสัตว์อื่นๆ ที่กินเนื้อเป็นอาหารก็จะอพยพตามไปด้วย

 ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ จำนวนของด้วงบางชนิดซึ่งต้องวางไข่ในกองมูลสัตว์กินหญ้าเป็นอาหาร ด้วงพวกนี้มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ปีกคู่แรกมีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงดำ ด้วงชนิดนี้เมื่อวางไข่บนกองมูลเสร็จแล้ว มันจะปั้นมูลเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเล็กห่อหุ้มไข่ของมันไว้ จากนั้นในขณะที่กำลังเดินถอยหลังมันจะใช้ขาหลัง

ของมันพยายามกลิ้งก้อนมูลให้ไปรวมกันอยู่ในหลุมหรือรอยแตกของดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ไข่จะได้ไม่ฝ่อหรือแห้งเกินกว่าที่จะฟักออกเป็นตัว ชาวบ้านเรียกแมลงพวกนี้ว่า แมลงกุดจี่ สามารถนำมารับประทานได้ โดยนำมาล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปคั่วในกระทะ เติมเกลือหรือซอสปรุงรสนิดหน่อย รับประทานอร่อยมาก ถ้าเราพบด้วงพวกนี้มาก ก็แสดงว่าในป่านี้น่าจะมีสัตว์พวกกินหญ้าหรือพืชเป็นอาหารอยู่ไม่ใช่น้อย ยิ่งถ้าเดินต่อไปแล้ว ยิ่งพบกองมูลสัตว์เป็นระยะๆ แล้ว ก็มั่นใจได้ว่า เราจะได้พบเห็นสัตว์ที่ถ่ายมูลไว้อย่างแน่นอน เมื่อเขียนถึง

แมลงที่เป็นอาหารของคนแล้ว ทำให้อดที่จะกล่าวถึงแมลงที่สามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ไม่ได้ เป็นต้นว่า หนอนนกและปลวก ซึ่งแมลงดังกล่าวทั้งสองชนิดนี้สามารถเพาะเลี้ยงได้ไม่ยากนัก หนอนนกมีผู้ผู้เพาะเลี้ยงและจำหน่ายเป็นอาหารของนกเลี้ยงหรือปลาสวยงามบางชนิดมานานแล้ว สำหรับราคาของหนอนนกนั้นค่อนขางจะแพง เท่าที่ทราบในท้องตลาดมีการซื้อขายกันกิโลกรัมละเกือบ 300 บาท และตลาดยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก

ถ้าคุณสามารถเพาะเลี้ยงหนอนนกได้ ก็จะเป็นช่องทางของการหารายได้อีกทางหนึ่ง
          สำหรับปลวกแล้ว ผู้อ่านคงคิดถึงแต่ด้านการทำลายบ้านเรือนและข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ทำมาจากไม้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปลวกก็มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน ได้มีการวิเคราะห์แล้วว่าปลวกมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เพราะปลวกมีโปรตีนและความชื้นสูง แม้คนเราจะไม่กินปลวก แต่เราสามาถนำมันมาเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงของเราได้ ลูกไก่ที่ได้กินเป็นอาหารจะโตเร็วและแข็งแรง ในกบเลี้ยง ก่อนที่เกษตรกรจะนำออกขาย ถ้าได้ขุนกบโดยการให้กินปลวกเป็นอาหารสักระยะหนึ่งแล้ว กบจะอ้วนและได้น้ำหนักมากขึ้น เกษตรกรก็จะขายได้เงินเพิ่มมากขึ้น สำหรับวิธีการเพาะเลี้ยงหนอนนกและปลวกนั้น ผู้เขียนจะหาโอกาสเขียนให้อ่านในภายหลัง

 

หน้า  1   2   3


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665