ควบคุมโดย...เทียนใต้น้ำ      หน้า       

.................................................................................................................


ลักษณะของปลาการ์ตูน
ในสกุลแอมฟิพรัยออน
(Amphiprion)

ลักษณะของปลาการ์ตูน
ในสกุลเปรมนัส
(Premnas)
มีหนามแหลมที่กระดูกใต้ตา

 

ภาพที่ ๑ ลักษณะที่แตกต่างกันของปลาการ์ตูนทั้งสองสกุล (ภาพจาก Allen,2000)

 

  เมื่อกล่าวถึงปลาการ์ตูนทุกคนจะนึกถึงภาพของปลาที่มีสีสวยๆ แหวกว่ายอยู่ตามสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีเส้นสายคล้ายหนวดของหมึก ที่เรียกว่า “ ดอกไม้ทะเล”
        ปลาการ์ตูนเป็นปลาทะเลกลุ่มหนึ่งที่มีโครงร่างเป็นกระดูกแข็ง จัดอยู่ในครอบครัวโพมาเซ็นทรีดี้ (Family Pomacentridae) หรือครอบครัวปลาสลิดหิน (damselfish) ทั่วโลกพบปลาครอบครัวนี้จำนวน ๒๘ สกุล ประมาณ ๓๒๑ ชนิด แต่กลุ่มที่เรียกกันว่า ปลาการ์ตูน มีจำนวน ๒๘ ชนิดใน ๒ สกุล คือ สกุลแอมฟิพรัยออน (Amphiprion) และสกุลเปรมนัส (Premnas) โดยสกุลหลังจะมีเงี่ยงแหลมตรงบริเวณใต้ตาจำนวน ๒ อัน (ภาพที่ ๑)
 

       ปลาการ์ตูนที่พบในน่านน้ำไทย เช่น  ปลาการ์ตูนบั้งขาว (Amphiprion clarkii)  ปลาการ์ตูนซีบ (A. sebae) ปลาการ์ตูนอานม้า (A. polymnus) ปลาการ์ตูนส้มขาว (A. ocellaris) ปลาการ์ตูนปานดำ (A  .ephippium) ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง (A. perideraion) ปลาการ์ตูนสะกั๊ง (A. akallopisos) ปลาเหลืองปล้อง (A. percula) และปลาการ์ตูนแก้มหนาม (Premnas biaculeatus)

 

 

   ภาพที่ ๒ ปลาการ์ตูนชนิดต่าง ๆ  (ภาพจาก www.uga.edu)

 

         ลำตัวของปลาการ์ตูนมีลักษณะรูปไข่ แบนข้าง มีความยาวอยู่ระหว่าง ๕ ถึง ๑๕ เซนติเมตร ส่วนใหญ่มีสีส้ม ส้มแดง เหลือง น้ำตาลหรือดำ อาจมีแถบสีขาวพาดสลับตามแนวดิ่งจำนวน ๑-๓ แถบ สีของลำตัวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามอายุและเพศ ส่วนหัวเล็กและสั้น ปากขนาดเล็กมีฟันรูปกรวยหรือแบนจำนวน ๑ หรือ ๒ แถว ขอบของกระดูกปิดเหงือกหยักเป็นซี่ฟัน เกล็ดมีขนาดเล็ก มีเส้นข้างตัวขาดตอน ครีบหลังต่อกันเป็นแถบยาวมีเงี่ยงจำนวน ๑๐ ก้านและก้านครีบอ่อนจำนวน ๑๔ ถึง ๒๑ ก้าน ครีบก้นมีเงี่ยงจำนวน ๒ ก้าน ลักษณะของครีบหางมีทั้งแบบเว้าลึกเป็นแฉก เว้าเล็กน้อย หรือแบบกลมมน ครีบอกอยู่บริเวณอก และครีบท้องอยู่ใต้ครีบอก

         ความแตกต่างระหว่างเพศของปลาการ์ตูนสามารถแยกได้โดยการใช้สีของลำตัว สีของครีบหลังครีบก้นและครีบอก รวมทั้งสีและความกว้างของแถบที่พาดบนลำตัว ส่วนมากปลาเพศเมียจะมีสีเข้มและมีลำตัวขนาดใหญ่กว่า และจากพฤติกรรมของการรวมฝูงพบว่าปลาเพศเมียเป็นจ่าฝูง สิ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อจ่าฝูงตายลง ปลาเพศผู้ที่มีอวัยวะเพศเมียซ่อนอยู่ภายในจะเปลี่ยนมาเป็นเพศเมียและทำหน้าที่เป็นจ่าฝูงแทน วงจรชีวิตของปลาการ์ตูนเริ่มจากแม่ปลาจะวางไข่ที่มีขนาดประมาณ ๓-๔ มิลลิเมตร จำนวน ๑๐๐ ถึง ๑,๕๐๐ ฟองไว้ข้างกอดอกไม้ทะเล จากนั้น ปลาตัวผู้จะเป็นผู้ดูแลไข่โดยการใช้ครีบพัดน้ำเพื่อให้ไข่ได้รับออกซิเจนและย้ายไข่ที่เน่าเสียออกไป ประโยชน์ของการใช้ครีบโบกน้ำจะทำให้ลูกปลาที่ฟักออกมา สามารถจำกลิ่นของดอกไม้ทะเลที่มันอาศัยได้ หลังจากที่ลูกปลาฟักออกจากไข่แล้ว ลำตัวมีสีใส และจะล่องลอยอยู่ในน้ำในลักษณะของแพลงก์ตอนชั่วคราวอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้น จะจมลงสู่พื้นแล้วมีการเปลี่ยนรูปร่างและมีสีที่ลำตัว มันจะหาดอกไม้ทะเลเพื่ออยู่อาศัยและเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป (ภาพที่ ๓) ...............................................................................อ่านต่อ
 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665