ควบคุมโดย...เทียนใต้น้ำ      หน้า       

.................................................................................................................

 

 

ภาพที่ ๓ วงจรชีวิตของปลาการ์ตูน (ดัดแปลงจาก Wilkerson, 1998)

 

ดอกไม้ทะเลหรือซีแอนนีโมนี่ (sea anemone) ไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในไฟลั่มไนดาเรีย (Phylum Cnidaria) คล้าสแอนโธซัว (Class Anthozoa) และออร์เดอร์ แอคตินีอาเรีย (Order Actiniaria) มีหลายครอบครัว ทั่วโลกพบมากกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด ในแต่ละชนิดจะมีลักษณะของหนวดแตกต่างกัน อาศัยเกาะตามพื้นหินหรือทรายที่มั่นคง พบเพียง ๑๐ ชนิดเท่านั้นที่ปลาการ์ตูนใช้อาศัยได้ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ครอบครัว (ภาพที่ ๔)ได้แก่

                ครอบครัวแอคตีนีอีดี้ (Family Actiniidae) มีลักษณะของปลายหนวดโป่งออกคล้ายลูกโป่ง

                ครอบครัวธาลัสซิแอนธีดี้ (Family Thalassianthidae) ลักษณะของหนวดสั้นคล้ายพรม

                ครอบครัวสตีโคแด๊คทิวลีดี้ (Family Stichodactylidae) มีหนวดยาว

 
    ภาพที่ ๔  ดอกไม้ทะเลชนิดต่างๆ ( ภาพจาก www.fish.idv.tw/ และ Neville Coleman)
  


ดอกไม้ทะเลหนวดสั้นเหมือนพรม

ดอกไม้ทะเลหนวดยาว

ดอกไม้ทะเลปลายหนวดโป่ง

ดอกไม้ทะเลหนวดยาว

 

        ดอกไม้ทะเลเหล่านี้ต้องอยู่ในน้ำตื้น เนื่องจากมีสาหร่ายกลุ่มซูแซนธาลลี่ (zooxanthallae) ที่มีขนาดเล็กอาศัยอยู่ภายในเซลล์ของหนวดและกรวยปาก โดยสาหร่ายเหล่านี้สามารถสังเคราะห์แสงและเป็นแหล่งที่ให้พลังงานกับตัวดอกไม้ทะเล ดังนั้น ดอกไม้ทะเลแต่ละตัวจึงต้องพยายามแผ่ลำตัวให้กว้างที่สุดเพื่อให้สาหร่ายสามารถรับแสงได้มากที่สุด

     อาวุธที่สำคัญของดอกไม้ทะเลคือเข็มพิษที่เรียกว่า นีมาโตสิสท์ (nematocyst) ซึ่งจะอยู่ตามบริเวณหนวดใช้สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ การที่ปลาการ์ตูนไม่เป็นอันตรายนั้น เนื่องจากดอกไม้ทะเลต้องสร้างเมือกบางชนิดออกมาเพื่อป้องกันตัวมันเองจากเข็มพิษที่มันปล่อยออกมาเช่นกัน ปลาการ์ตูนจะว่ายไปที่ฐานของดอกไม้ทะเลแล้วเอาลำตัวถูกับเมือกเหล่านี้ให้ติดตัว ทำให้เข็มพิษไม่สามารถทำอันตรายได้

การอาศัยร่วมกันของสามเกลอในธรรมชาติ

       ปลาการ์ตูน ดอกไม้ทะเลและสาหร่ายซูแซนธาลลี่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยปลาการ์ตูนเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมหวงถิ่น มันจึงช่วยไล่ปลาผีเสื้อปากยาวที่ชอบมากินดอกไม้ทะเล ในขณะเดียวกันมันก็จะหลบภัยจากสัตว์อื่นโดยว่ายเข้าไปอยู่บริเวณหนวดของดอกไม้ทะเลที่มีเข็มพิษเป็นอาวุธ ส่วนสาหร่ายนั้นจะทำการสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตน้ำตาลและกรดอินทรีย์ให้กับดอกไม้ทะเล ในขณะเดียวกันดอกไม้ทะเลจะผลิตกรดอะมิโนที่สาหร่ายนำไปใช้ประโยชน์ได้

ปลาการ์ตูนและดอกไม้ทะเล

      ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดจะอาศัยดอกไม้ทะเลต่างชนิดกัน แต่ดอกไม้ทะเลไม่ทุกชนิดที่มันจะใช้อาศัยได้ ปลาการ์ตูนบางชนิดสามารถอยู่กับดอกไม้ทะเลได้หลายชนิด แต่บางชนิดก็สามารถอยู่ได้เพียงชนิดเดียว ขึ้นกับลักษณะทางภูมิศาสตร์และนิเวศวิทยาที่ดอกไม้ทะเลอาศัยอยู่

      จากการศึกษาปลาการ์ตูนและดอกไม้ทะเลที่มันอาศัยบริเวณเกาะขามและเกาะครามโดยสุหทัย ไพรสานฑ์กุลในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ พบปลาการ์ตูน ๑ ชนิดคือ  ปลาการ์ตูนอินเดียนแดงอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเล ๒ ชนิดคือ ชนิด Heteractis magnifica และชนิด Stichodactyla gigantea จัดอยู่ในครอบครัวสตีโคแด๊คทิวลีดี้ (ภาพชุดที่ ๕ และภาพที่ ๖)

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
       
           
       
       
     

ภาพชุดที่ ๕ ดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis  magnifica  บริเวณเกาะขาม และเกาะคราม  ( ภาพโดย สุหทัย ไพรสานฑ์กุล (๒๕๔๔)

   
 

ภาพที่ ๖
ปลาการ์ตูนอินเดียนแดงอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดหนวดยาว
ที่บริเวณเกาะขามและเกาะคราม
อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
(ภาพโดย สุหทัย ,๒๕๔๔)

         
       
สืบเนื่องจากปลาการ์ตูนมีความสวยงามจึงนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ ทำให้กลายเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ธุรกิจการจับปลาการ์ตูนมาขายทำให้ประชากรในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ได้ในอนาคต ปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะฟักปลาการ์ตูนขึ้นตามหน่วยงานหลายแห่งและพบว่า ปลาการ์ตูนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาดอกไม้ทะเลเสมอไป อาจจะนำมาเลี้ยงโดยไม่มีดอกไม้ทะเลร่วมด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ปลาการ์ตูนจะมีความสวยงามมากเมื่ออยู่เคียงคู่กับดอกไม้ทะเล

        ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ยังไม่เคยมีการเพาะเลี้ยงดอกไม้ทะเลได้ สิ่งที่จะสูญพันธุ์ไปกับธุรกิจนี้ น่าจะเป็นดอกไม้ทะเลมากกว่า

 
 

รวบรวมข้อมูลโดย รองศาสตราจารย์ วิมล เหมะจันทร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665